สารอินทรีย์ระเหยง่าย VOCs


สารอินทรีย์ระเหยง่าย (Volatile organic compounds) หรือที่นิยมเรียกสั้นๆ ว่า “สาร VOCs” หลายคนอาจไม่รู้จักหรือไม่คุ้นเคย แต่ทราบหรือไม่ว่าเราพบสาร VOCs ได้ในการชีวิตประจำวันทั่วไปเช่น สีทาบ้าน ควันบุหรี่ ตัวทำละลายของหมึกพิมพ์ อู่พ่นสีรถยนต์ น้ำยาฟอกสี น้ำยาซักแห้ง น้ำยาย้อมผม ควันรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม หรือการเผาไหม้ต่างๆ


สาร VOCs สามารถแบ่งได้ 2 ชนิดตามองค์ประกอบ ได้แก่

          1) กลุ่ม Non-halogenated hydrocarbon หรือ Non- Chlorinated VOCs เป็นกลุ่มที่ไม่มีอะตอมของธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบ โดยมากมากจากสิ่งแวดล้อม การเผาไหม้กองขยะ พลาสติก วัสดุ ตัวทำละลาย สีทาวัสดุต่างๆ เป็นต้น ผู้ที่ประกอบอาชีพที่ได้รับผลกระทบต่อสุขภาพเช่น นักดับเพลิง คนงานเผาขยะ คนเผาถ่าน จึงมักป่วยด้วยโรคทางเดินหายใจเนื่องจากได้รับสาร VOCs เป็นประจำ ตัวอย่างสารกลุ่มนี้ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซโซลีน เฮกเซน แอลกอฮอล์ แอลดีไฮด์ คีโตน โทลูอีน เบนซีน เอทิลเบนซีน ไซลีน ฟีนอล

          2) กลุ่ม Halogenated hydrocarbon หรือ Chlorinated VOCs เป็นกลุ่มที่มีอะตอมของธาตุคลอรีนเป็นองค์ประกอบ โดยมากเป็นสารสังเคราะห์มีความเป็นพิษและมีความเสถียรในสิ่งแวดล้อมมากกว่าสารกลุ่มแรก จึงยากต่อการสลายตัวทำให้เกิดการสะสมในสิ่งแวดล้อมในปริมาณมาก

ผลกระทบของสาร VOCs ต่อสุขภาพมนุษย์

          สาร VOCs สามารถเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ได้ 3 ทางคือ ทางการหายใจ  การรับประทาน  และการสัมผัสทางผิวหนัง เมื่อสาร VOCs เข้าสู่ร่างกายแล้วจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแตกต่างกันตามชนิดของ VOCs ดังตัวอย่าง เช่น

          -เบนซีน (Benzene) หากรับประทานหรือสูดดมโดยตรงจะก่อให้เกิดพิษต่อระบบประสาทส่วนกลางและอาจเสียชีวิตได้ แต่ถ้าหากสูดดมติดต่อกันเป็นเวลานานจะเกิดพิษต่อระบบเลือด ระบบภูมิคุ้มกันและเนื้องอกซึ่งสัมพันธ์กับโอกาสเกิดมะเร็งเม็ดเลือดขาวเพิ่มมากขึ้น

          -ไวนิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride) เกิดพิษเฉียบพลันต่อตับ ปอด ไต หัวใจ และส่งผลให้เลือดไม่แข็งตัวหากได้รับในปริมาณมากจะทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หากสูดดมปริมาณน้อยติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำลายเส้นประสาทและระบบภูมิคุ้มกัน

          -1,2-ไดคลอโรอีเธน (1,2-Dichloroethane)  เกิดพิษเฉียบพลันต่อระบบประสาท ตับ ไต ก่อให้เกิดการเสียชีวิตได้

          -ไตรคลอโรเอทิลลีน (Trichloroethylene) หากสูดดมปริมาณจะทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้  เป็นพิษต่อตับและไต รวมถึงทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ  หากได้รับสะสมเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งและมีผลกระทบต่อระบบสืบพันธ์

-ไดคลอโรมีเธน (Dichloromethane) หากสูดดมจะก่อให้เกิดพิษเฉียบพลันส่งผลให้หมดสติ

          -1,2-ไดคลอโรโพรเพน (1,2-Dichloropropane) ก่อให้เกิดอาการเวียนศรีษะ คลื่นไส้ ทำลายตับ ไต และส่งผลให้เสียชีวิตได้  หากสูดดมเป็นระยะเวลานานจะทำลายตับ ไต และระบบหายใจ

          -เตตระคลอโรเอทธิลีน (Tetrachloroethylene) เกิดพิษเฉียบพลันส่งผลทำให้เวียนศรีษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ พูดหรือเดินลำบาก หมดสติและเสียชีวิตได้  หากสูดดมเป็นระยะเวลานานๆ จะทำลายตับ เปต และก่อให้เกิดมะเร็งได้  และอาจจก่อให้เกิดการแท้งบุตรอีกด้วย

          -คลอโรฟอร์ม (Chloroform) เป็นพิษต่อระบบประสาทส่วนกลาง ตับ และไต หากได้รับในปริมาณสูงทำให้อ่อนเพลีย เวียนศรีษะ และหากได้รับปริมาณต่ำติดต่อกันเป็นเวลานานจะทำลายการทำงานของตับและไต

          -1,3-บิวทาไดอีน (1,3-Butadiene) หากสัมผัสโดยตรงก่อให้เกิดการระคายเคือง หรือหากสัมผัสในปริมาณที่สูงมาก ก่อให้เกิดอาการมึนเมาและเสียชีวิตได้ ในกรณีสัมผัสหรือสูดดมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน ก่อให้เกิดพิษต่อระบบเลือด ปอด และก่อให้เกิดมะเร็งได้

          -คาร์บอนเตตระคลอไรด์ (Carbon Tetrachloride) การสูดดมก่อให้เกิดการระคายเคืองทางเดินหายใจ และส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลางและอาจทำให้หมดสติได้ สารนี้มีพิษต่อตับ ไต ผิวหนัง ปอด ดวงตา ระบบประสาทส่วนกลางและอาจก่อให้เกิดมะเร็ง อีกทั้งยังเป็นอันตรายต่อระบบสืบพันธ์อีกด้วย

          -อะซิทัลดีไฮด์ (Acetaldehyde) จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทส่วนกลาง ทำให้เวียนศรีษะ เมื่อยล้า เซื่องซึมและอาจทำให้หมดสติ

          -อะครอลีน (Acrolein) ก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ หายใจติดขัด หากรับปริมาณมากจะทำให้ปอดถูกทำลายและถึงแก่ชีวิตได้ หากกลืนเข้าไปจะเกิดพิษเฉียบพลันต่อระบบทางเดินอาหารและถึงแก่ชีวิต

          -เบนซิลคลอไรด์ (Benzyl Chloride) เป็นพิษต่อระบบทางเดินหายใจ ทำลายเยื่อเมือกอย่างรุนแรง เกิดการอักเสบและบวมน้ำของกล่องเสียงและหลอดลมใหญ่ หากกลืนเข้าไปจะก่อให้เกิดแผลไหม้ทางเดินอาหารและส่งผลให้เกิดอัมพาตได้
 
ผลกระทบของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ต่อสิ่งแวดล้อม

           สาร (VOCs) มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมคือมีผลต่อชั้นของโอโซนของโลก โดยปกติโอโซนจะอยู่ในชั้นบรรยากาศสูง ทำหน้าที่กรองแสงอุตราไวโอเลต (UV) แต่สาร (VOCs) มีผลทำให้โอโซนบนชั้นบรรยากาศสูงเข้ามาอยู่ในชั้นบรรยากาศใกล้โลก และโอโซนนี้จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ทำให้เจ็บไข้ ไม่สบายเจ็บคอ หายใจไม่สะดวก ระคายเคืองตา แก้วตา จมูก คอ ทรวงอก ไอ ปวดศรีษะ นอกจากนี้โอโซนยังเป็นตัวทำให้สิ่งก่อสร้างชำรุด ผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ


ผลของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ที่มีต่อสุขภาพ

      สาร (VOCs) สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 3 ทาง

          1. การหายใจ
          2. การกิน-ดื่มทางปาก
          3. การสัมผัสทางผิวหนัง

         เมื่อสาร (VOCs) เข้าสู่ร่างกายแล้วจะผ่านเข้าสู่ตับ ซึ่งจะมีเอนไซม์และวิถีทางเมตะบอลิสม์ (metabolism) หลากหลายแตกต่างกัน สารพิษถูกเปลี่ยนแปลงทางเมตะบอลิสม์ในตับในระยะแรก โดยอาศัยเอนไซม์ในระบบ ชนิดของเอนไซม์ที่จะใช้แตกต่างกันแล้วแต่ชนิดของสาร (VOCs) ที่ได้รับ และในขั้นตอนสุดท้ายจะถูกขับทิ้งทางปัสสาวะในรูปของกรด เช่น สารไตรคลอโรเอทธิลลีน เมื่อถูกขับออกมาในขั้นตอนสุดท้าย จะออกมาในรูปของ กรดไตรคลอโรอะซีติก ซึ่งความเป็นพิษต่อร่างกายจะมากหรือน้อยนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดังนี้

           1. ช่วงครึ่งชีวิตของสาร (VOCs) ในร่างกาย ถ้ามีการตรวจวัดสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย (VOCs) ในเลือดสามารถบอกประวัติการได้รับ หรือการสัมผัส (VOCs) 
           2. สภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย เช่น การดื่มเหล้าหรือเครื่องดื่มที่มีอัลกอฮอล์จะเพิ่มการดูดซึมและเพิ่มระดับของสาร 2-butamone และ acetone ในเลือดของนักดื่มเหล้า
           3. ระบบการขับถ่ายของเสีย การขับถ่ายสารพิษทิ้งสาร VOCs ถูกขับโดยตรงผ่านไตออกมาทางปัสสาวะ ทางลมหายใจ และโดยทางอ้อมผ่านตับ และน้ำดี ถ้าสารนั้นถูกขับออกได้ง่าย ความเป็นพิษจะน้อยลงกว่าสารเคมีที่ถูกขับออกทิ้งได้ยาก


ผลกระทบของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายต่อระบบต่างๆ มีดังนี้

1. ผลกระทบต่อด้านภูมิคุ้มกัน
    สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายหลากชนิดทำให้ระบบภูมิคุ้มกันถูกรบกวนหรือทำลาย ศักยภาพการป้องกันโรคการติดเชื้อจะลดลง เช่น จากการศึกษาประชากรโดยการตรวจเลือด และผิวหนังในคนที่อยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะสารเคมีมีพิษ (pesticide dump sites) พบว่ามีสาร Dichloroethane (DCE) ในเลือดมากกว่าผู้ที่อยู่ห่างไกลกว่า ยิ่งอยู่ในบริเวณนั้นนานๆ ยิ่งได้รับมากขึ้นแตกต่างกันอย่างชัดเจน นอกจากนี้เม็ดเลือดขาวของประชากรที่อยู่ใกล้ขยะมีพิษมากกว่าจะมีเม็ดเลือดขาวต่ำกว่าในกลุ่มประชากรที่อยู่ห่างไกลออกไป

2. ผลกระทบต่อระบบประสาท
    การได้รับสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายจะทำให้เกิดอาการทางกดประสาทหลายอย่าง เช่น การง่วงนอน วิงเวียนศีรษะ ซึมเศร้า หรือหมดสติได้ จะยิ่งทำให้มีผลมากขึ้น

3. ผลกระทบเสียหายต่อสุขภาพด้านอื่นๆ
    สารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย อาจมีผลกระทบต่อสุขภาพระบบอื่นๆ ได้แก่ ระบบพันธุกรรม ระบบฮอร์โมน อาจทำให้เกิดโรคมะเร็งบางชนิดได้ และโรคทางระบบสืบพันธุ์ เช่นเป็นหมัน ความพิการของเด็กมีการกลายเพศ

การป้องกันและการแก้ไขสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่าย 
       ในการแก้ไขปัญหาสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายอาจทำได้โดยการทำลายสาร VOCs เช่น ทางเคมีโดยการใช้ก๊าซโอโซนไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ และสารออกซิไดซ์อื่นๆ หรือในทางชีวภาพให้ใช้จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายได้ สำหรับการรักษาผู้ป่วยนั้นมีความลำบากยุ่งยากมาก ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดคือการป้องกันและควบคุม

ขอขอบคุณข้อมูลจาก : กองความปลอดภัยแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน
Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้